วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์ หลวงปู่ทับวัดอนงคาราม

วัดอนงคารามวรวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดอนงค์” เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่เลขที่ ๔๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้เมื่อเดิมได้ชื่อว่า วัดน้อยขำแถม ตามชื่อของผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงน้อย ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดคู่กันกับวัดพิชยญาติการาม ของสามี ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดอนงคาราม ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา มีเสารายรอบข้างนอก หน้าบันเป็นลายดอกลอย ซุ้มประตูและหน้าต่างทำเป็นลายปูนปั้น เป็นที่ยกย่องกันว่างดงามมาก บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ผนังภายในและฝ้าเพดานทาสีปิดทองล่องชาด

พระวิหาร ฉาบปูนปั้นที่ซุ้มประตูและหน้าต่าง ได้รับการยกย่องว่างดงามมากเช่นเดียวกับที่พระอุโบสถ รูปทรงทั่วไป ลักษณะเหมือนพระอุโบสถ แต่หน้าบันเป็นลายดอกไม้ประดับกระจก ระหว่างเสาระเบียงตรงประตูหน้าหลังประดับรวงผึ้งห้อยระหว่างเสาแล้วทิ้งปลายเป็นสาหร่ายย้อยลงไปตามเสา ทั้งสองต้น ภายในเขียนเป็นลายก้านแย่ง ส่วนตอนล่างของบานหน้าต่างเขียนเป็นภาพทศชาติ

ส่วนพระประธานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะปิดทอง ได้รับถวายพระนามว่า พระจุลนาค และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย



สองข้างพระวิหารกระหนาบด้วยพระมณฑปข้างละ ๑ หลัง เป็นพระมณฑปที่สวยงามแปลกตา หลังทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์จำลองแบบมาจากวัดราชาธิวาส ส่วนหลังทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยโลหะ และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้

พระปรางค์องค์เล็กทั้ง ๒ องค์ มีขนาดเท่ากัน วัดโดยรอบ ๑๕ วา ส่วนสูงตลอดนภศูล ๑๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ กระเบียด ทิศตะวันออกเป็นที่ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริย์ องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา เข้าใจว่าเป็นของเก่า แต่ไม่ทราบว่าเอามาจากที่ไหน

ศิลปวัตถุงดงามประจำวัดอนงคารามชิ้นหนึ่งคือ ตู้พระไตรปิฎก เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนลายทองเป็นรูปขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค บานประตูด้านหน้าเขียนเป็นเรื่องพระมโหสถตอนข้าศึกมาล้อมเมือง สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ กุฏิสงฆ์ชึ่งออกแบบตัวเรือนและรั้วไว้อย่างสวยงาม

นอกจากนี้แล้วบริเวณชั้น ๒ ของ ร.ร.พระปริยัติธรรม วัดอนงคาราม ยังเปิดเป็นห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น และเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน" ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่วนวัตถุมงคลอันโด่งดังที่สุดของวัดอนงค์มีด้วยกันมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะสมัย หลวงปู่ทับ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ แห่งวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีจริยาวัตรงดงาม วาจาไพเราะ ท่านจะพูด "ดีจ้ะ" หรือ "จ้ะ" ลงท้ายแทบทุกคำ มีวิชาหุงน้ำมันมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง "เหรียญรุ่นแรก" เป็นที่เล่นหากันในวงการ แต่มีจำนวนน้อยมาก แทบจะไม่พบเห็น นักสะสมนิยมเล่นหาอย่างมาก

หลวงปู่ทับ


หลวงปู่ทับ วัดอนงค์ เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าที่เชี่ยวชาญในวิธีเล่นแร่แปรธาตุ เก่งทางคาถาอาคม ท่านได้หลอมโลหะจนได้โลหะเมฆสิทธิ์ ที่มีวรรณะสีสันสวยงามแปลกตา มีคุณวิเศษศักดิ์สิทธิ์อเนกอนันต์แฝงอยู่ในตัว แม้แต่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ก็ได้มาศึกษาและเปลี่ยนวิชากับท่าน และหลวงปู่ศุขได้ใช้วิชาหล่อพระเมฆสิทธิ์นำกลับไปสร้างพระเครื่องพิมพ์เอกลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมของท่านเองที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเนื้อเมฆสิทธิ์ที่หลวงพ่อทับได้ปลุกเสกสร้างไว้นั้น มีหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์ปางซ่อนหา พิมพ์พระชัยวัฒน์ ลูกอม เป็นต้น แต่ที่นิยมกันมากจนเกิดการแสวงหาบูชาอย่างมากมาย ก็คือ "พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์"

พระปิดตาหลวงปู่ทับ

“พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์รุ่นแรก” ของหลวงปู่ทับ ปัจจุบันพระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์รุ่นแรกของหลวงปู่ทับ กลายเป็นวัตถุมงคลที่หายาก และสนนราคาเล่นหาสูงมาก บางองค์สภาพสวยๆ ว่ากันเป็นหลักแสนหลักล้าน พุทธคุณก็โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งเมตามหานิยมโชคลาภค้าขายร่ำรวย แคล้วคลาดปลอดภัย และมหาอุตม์ เรียกว่า “ครอบจักรวาล”

ตามประวัติ หลวงปู่ทับ เกิดเมื่อ พ.ศ.๑๒๗๔ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๑๓๔ หลังจากท่านละสังขารมาจนถึง พ.ศ.๒๕๕๕ รวมระยะเวลา ๙๐ ปีเต็ม “วัดอนงคาราม” ยังไม่เคยจัดสร้างวัตถุมงคลย้อนยุคขึ้นเลย ทางวัดจงจัดสร้าง “พระปิดตา-พระสมเด็จปางซ่อนหา” เนื้อเมฆสิทธิ์ย้อนยุค “หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นทุนในการบูรณะปูชนียสถานและปูชนียวัตถุให้ถาวรมั่นคงสืบไป

วัตถุมงคลรุ่นนี้ที่จัดสร้างประกอบด้วย รูปหล่อพระพุทธจุลนาค เนื้อทองเหลืองปิดทอง ขนาด ๕ นิ้ว และ ๙ นิ้ว, พระปิดตาพิมพ์ต้อกลางแบบแต่ง เนื้อเมฆสิทธิ์, พระปิดตา พิมพ์ต้อกลาง แบบไม่แต่ง เนื้อเมฆสิทธิ์, พระปิดตา พิมพ์ต้อกลาง เนื้อทองแดง รมดำ หลังยันต์-เลข, พระปิดตาพิมพ์ต้อกลาง เนื้อทองแดง รมสีมันปู เดินขอบสตางค์, พระสมเด็จพิมพ์ปางซ่อนหา เนื้อเมฆสิทธิ์ และรูปหล่อเหมือนบุรพาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เนื้อทองเหลืองรมดำ และรูปหล่อเหมือนหลวงปู่ทับ เนื้อทองเหลือง รมสีมันปู พระปรกใบมะขาม รูปถ่ายหลวงปู่ทับ เป็นต้น

กำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษกวันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๔.๐๙ น. ณ มณฑลพิธีวัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ พระเกจิอาจารย์ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ, หลวงปู่คำบุ วัดกุดชมภู จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว, หลวงพ่อรวย วัดตะโก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา, พระอาจารย์อิฐฏ์ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อชำนาญ วัดบางกุฎทอง จ.ปทุมธานี, พ่อท่านหรีด วัดป่าโมกข์ จ.พังงา และพระอาจารย์ประสูติ วัดในเตา จ.ตรัง เป็นต้น