วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาติหน้ามีจริงไหม? หลวงพ่อชา

ครั้งหนึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งมาถามปัญหาท่านอาจารย์ชา (หลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี) เรื่องชาติหน้าภพหน้า เขาสงสัยว่า คนตายแล้วเกิดหรือไม่?

      ผู้ถาม : หลวงพ่อครับ ชาติหน้ามีจริงไหม?
      ท่านอาจารย์ชา : ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ?
      ผู้ถาม : เชื่อ
      ท่านอาจารย์ชา : ถ้าเชื่อ......คุณก็โง่
      ผู้ถาม : คนตายแล้วเกิดไหม?
      ท่านอาจารย์ชา : จะเชื่อไหมล่ะ? ถ้าเชื่อ......คุณโง่หรือฉลาด?



แล้วท่านจึงสอนต่อไปว่า
หลายคนมาถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า
ถ้าบอกแล้วคุณจะเชื่อไหม?
ถ้าเชื่อคุณก็โง่
เพราะอะไร
ก็เพราะมันไม่มีหลักฐาน-พยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้
ที่คุณเชื่อ เพราะ คุณเชื่อตามเขา
คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น
คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป

ที่นี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิด หรือว่าชาติหน้ามี
อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า
ถ้ามี พาผมไปดูหน่อยได้ไหม?
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด
ที่นี้ ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม?
อาตมาก็ถามว่า พรุ่งนี้มีไหม?
ถ้ามีพาไปดูได้ไหม?
อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้
ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี
แต่สิ่งนี้เป็นของที่จะหยิบยกเอามาเป็น วัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น
ไม่ต้องสงสัยว่าชาติหน้ามีหรือไม่มี
ไม่ต้องไปถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด
อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา 
หน้าที่ของเรา คือ เราจะต้องรู้จักเรื่องราวของตัวเองในปัจจุบัน 
เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม?
ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร?
นี้คือสิ่งที่เราจะต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรา ถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง
เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือ
ถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้
นี่เรียกว่าอนาคต คือ พรุ่งนี้
มันจะมีได้ก็เพราะ วันนี้เป็นเหตุ
ทีนี้ อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า
ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวาน นี้เสียแล้ว

นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่
ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน
เท่านี้ก็พอแล้ว  ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี
อนาคตมันก็จะดีด้วย
อดีต คือ วันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย
และที่สำคัญที่สุด คือ
ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว
อนาคต คือ ชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง

คนหนึ่งพูดว่า : กลัวว่าชาติหน้าจะไม่ได้เกิด
ท่านอาจารย์ชา : นั่นแหละยิ่งดี กลัวมันจะเกิดเสียด้วยซ้ำไป

ในครั้งพุทธกาล สมัยที่พระพุทธเจ้ายังคงมีชีวิตอยู่ มีพราหมณ์คนหนึ่งมีความสงสัยว่าคน

ตายแล้วไปไหน?
คนตายแล้วเกิดหรือไม่?
ถ้าพระองค์ตอบได้ ก็จะมาบวชด้วย
แต่ถ้าตอบไม่ได้ หรือไม่ตอบ แกก็จะไม่บวช แกว่าของแกอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า
มันเป็นเรื่องอะไรของฉันเล่า
พราหมณ์จะบวชหรือไม่บวช นั่นเป็นเรื่องของพราหมณ์
ไม่ใช่เรื่องของฉัน

พระองค์ตรัสว่า
ถ้าตราบใดที่พราหมณ์ยังมีความเห็นว่า มีคนเกิด หรือมีคนตาย
คนตายแล้วเกิด หรือคนตายแล้วไม่เกิด
ถ้าพราหม์ยังมีความเห็นอยู่อย่างนี้
พราหมณ์ก็จะเป็นทุกข์ทรมานอยู่อีกหลายกัลป์
ทางที่ถูกนั้น พราหมณ์จะต้องถอนลูกศรออกเสียบัดนี้
พระพุทธเจ้าท่านว่า
ความจริงแล้วไม่มีใครเกิด ไม่มีใครตาย

พราหมณ์คนนั้นฟังไม่รู้เรื่อง และ
จนกว่าแกจะได้เรียนรู้เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เข้าใจถ่องแท้เสียแล้วนั่นแหละ จึงจะเข้าใจคำพูดของพระองค์ได้ นั่นจึงจะเรียกว่า
การรู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญา เป็นการเชื่อด้วยปัญญา
พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้
ไม่ได้สอนว่า ให้เชื่อว่าคนตายแล้วเกิดหรือไม่เกิด
ชาติหน้ามีหรือไม่มี
อย่างนั่นไม่ใช่เรื่องเชื่อ หรือไม่เชื่อ
จะถือเอาเป็นประมาณไม่ได้ จะถือเอาเป็นหลักเกณฑ์ไม่ได้
  ดังนั้น ที่คุณถามว่า ชาติหน้ามีไหมนั้น
อาตมาจึงถามคุณว่า ถ้าบอกแล้วคุณจะเชื่อไหม?
ถ้าเชื่อ โง่หรือฉลาด?
อย่างนี้เข้าใจไหม?
ให้เอาไปคิดดูเป็นการบ้านนะ. 

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์ หลวงปู่ทับวัดอนงคาราม

วัดอนงคารามวรวิหาร หรือนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า “วัดอนงค์” เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตั้งอยู่เลขที่ ๔๑ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กทม. เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้เมื่อเดิมได้ชื่อว่า วัดน้อยขำแถม ตามชื่อของผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงน้อย ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัด บุนนาค) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดคู่กันกับวัดพิชยญาติการาม ของสามี ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดอนงคาราม ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา มีเสารายรอบข้างนอก หน้าบันเป็นลายดอกลอย ซุ้มประตูและหน้าต่างทำเป็นลายปูนปั้น เป็นที่ยกย่องกันว่างดงามมาก บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำ ลงรักปิดทอง ผนังภายในและฝ้าเพดานทาสีปิดทองล่องชาด

พระวิหาร ฉาบปูนปั้นที่ซุ้มประตูและหน้าต่าง ได้รับการยกย่องว่างดงามมากเช่นเดียวกับที่พระอุโบสถ รูปทรงทั่วไป ลักษณะเหมือนพระอุโบสถ แต่หน้าบันเป็นลายดอกไม้ประดับกระจก ระหว่างเสาระเบียงตรงประตูหน้าหลังประดับรวงผึ้งห้อยระหว่างเสาแล้วทิ้งปลายเป็นสาหร่ายย้อยลงไปตามเสา ทั้งสองต้น ภายในเขียนเป็นลายก้านแย่ง ส่วนตอนล่างของบานหน้าต่างเขียนเป็นภาพทศชาติ

ส่วนพระประธานในพระวิหาร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะปิดทอง ได้รับถวายพระนามว่า พระจุลนาค และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย



สองข้างพระวิหารกระหนาบด้วยพระมณฑปข้างละ ๑ หลัง เป็นพระมณฑปที่สวยงามแปลกตา หลังทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์จำลองแบบมาจากวัดราชาธิวาส ส่วนหลังทิศตะวันตก ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองหล่อด้วยโลหะ และใกล้ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้

พระปรางค์องค์เล็กทั้ง ๒ องค์ มีขนาดเท่ากัน วัดโดยรอบ ๑๕ วา ส่วนสูงตลอดนภศูล ๑๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๒ กระเบียด ทิศตะวันออกเป็นที่ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริย์ องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ๔ รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา เข้าใจว่าเป็นของเก่า แต่ไม่ทราบว่าเอามาจากที่ไหน

ศิลปวัตถุงดงามประจำวัดอนงคารามชิ้นหนึ่งคือ ตู้พระไตรปิฎก เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย เขียนลายทองเป็นรูปขบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและชลมารค บานประตูด้านหน้าเขียนเป็นเรื่องพระมโหสถตอนข้าศึกมาล้อมเมือง สิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ได้แก่ กุฏิสงฆ์ชึ่งออกแบบตัวเรือนและรั้วไว้อย่างสวยงาม

นอกจากนี้แล้วบริเวณชั้น ๒ ของ ร.ร.พระปริยัติธรรม วัดอนงคาราม ยังเปิดเป็นห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น และเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน" ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ส่วนวัตถุมงคลอันโด่งดังที่สุดของวัดอนงค์มีด้วยกันมากมายหลายอย่าง โดยเฉพาะสมัย หลวงปู่ทับ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทธสโร) อดีตเจ้าอาวาสลำดับที่ ๖ แห่งวัดอนงคาราม กรุงเทพฯ เป็นพระสงฆ์ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง มีจริยาวัตรงดงาม วาจาไพเราะ ท่านจะพูด "ดีจ้ะ" หรือ "จ้ะ" ลงท้ายแทบทุกคำ มีวิชาหุงน้ำมันมนต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง "เหรียญรุ่นแรก" เป็นที่เล่นหากันในวงการ แต่มีจำนวนน้อยมาก แทบจะไม่พบเห็น นักสะสมนิยมเล่นหาอย่างมาก

หลวงปู่ทับ


หลวงปู่ทับ วัดอนงค์ เป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าที่เชี่ยวชาญในวิธีเล่นแร่แปรธาตุ เก่งทางคาถาอาคม ท่านได้หลอมโลหะจนได้โลหะเมฆสิทธิ์ ที่มีวรรณะสีสันสวยงามแปลกตา มีคุณวิเศษศักดิ์สิทธิ์อเนกอนันต์แฝงอยู่ในตัว แม้แต่หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ก็ได้มาศึกษาและเปลี่ยนวิชากับท่าน และหลวงปู่ศุขได้ใช้วิชาหล่อพระเมฆสิทธิ์นำกลับไปสร้างพระเครื่องพิมพ์เอกลักษณ์รูปสี่เหลี่ยมของท่านเองที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเนื้อเมฆสิทธิ์ที่หลวงพ่อทับได้ปลุกเสกสร้างไว้นั้น มีหลายพิมพ์ ได้แก่ พิมพ์พระปิดตา พิมพ์ปางซ่อนหา พิมพ์พระชัยวัฒน์ ลูกอม เป็นต้น แต่ที่นิยมกันมากจนเกิดการแสวงหาบูชาอย่างมากมาย ก็คือ "พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์"

พระปิดตาหลวงปู่ทับ

“พระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์รุ่นแรก” ของหลวงปู่ทับ ปัจจุบันพระปิดตาเนื้อเมฆสิทธิ์รุ่นแรกของหลวงปู่ทับ กลายเป็นวัตถุมงคลที่หายาก และสนนราคาเล่นหาสูงมาก บางองค์สภาพสวยๆ ว่ากันเป็นหลักแสนหลักล้าน พุทธคุณก็โดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งเมตามหานิยมโชคลาภค้าขายร่ำรวย แคล้วคลาดปลอดภัย และมหาอุตม์ เรียกว่า “ครอบจักรวาล”

ตามประวัติ หลวงปู่ทับ เกิดเมื่อ พ.ศ.๑๒๗๔ มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๑๓๔ หลังจากท่านละสังขารมาจนถึง พ.ศ.๒๕๕๕ รวมระยะเวลา ๙๐ ปีเต็ม “วัดอนงคาราม” ยังไม่เคยจัดสร้างวัตถุมงคลย้อนยุคขึ้นเลย ทางวัดจงจัดสร้าง “พระปิดตา-พระสมเด็จปางซ่อนหา” เนื้อเมฆสิทธิ์ย้อนยุค “หลวงปู่ทับ วัดอนงคาราม” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นทุนในการบูรณะปูชนียสถานและปูชนียวัตถุให้ถาวรมั่นคงสืบไป

วัตถุมงคลรุ่นนี้ที่จัดสร้างประกอบด้วย รูปหล่อพระพุทธจุลนาค เนื้อทองเหลืองปิดทอง ขนาด ๕ นิ้ว และ ๙ นิ้ว, พระปิดตาพิมพ์ต้อกลางแบบแต่ง เนื้อเมฆสิทธิ์, พระปิดตา พิมพ์ต้อกลาง แบบไม่แต่ง เนื้อเมฆสิทธิ์, พระปิดตา พิมพ์ต้อกลาง เนื้อทองแดง รมดำ หลังยันต์-เลข, พระปิดตาพิมพ์ต้อกลาง เนื้อทองแดง รมสีมันปู เดินขอบสตางค์, พระสมเด็จพิมพ์ปางซ่อนหา เนื้อเมฆสิทธิ์ และรูปหล่อเหมือนบุรพาจารย์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม) เนื้อทองเหลืองรมดำ และรูปหล่อเหมือนหลวงปู่ทับ เนื้อทองเหลือง รมสีมันปู พระปรกใบมะขาม รูปถ่ายหลวงปู่ทับ เป็นต้น

กำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษกวันเสาร์ที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๔.๐๙ น. ณ มณฑลพิธีวัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ พระเกจิอาจารย์ร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ, หลวงปู่คำบุ วัดกุดชมภู จ.อุบลราชธานี, หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน, หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว, หลวงพ่อรวย วัดตะโก จ.พระนครศรีอยุธยา, หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา, พระอาจารย์อิฐฏ์ วัดจุฬามณี จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อชำนาญ วัดบางกุฎทอง จ.ปทุมธานี, พ่อท่านหรีด วัดป่าโมกข์ จ.พังงา และพระอาจารย์ประสูติ วัดในเตา จ.ตรัง เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ร่วมบุญปฏิสังขรณ์ธรรมสถานบ้านโพธิ์ทอง

ธรรมสถานบ้านโพธิ์ทอง” ตั้งอยู่หมู่ ๑๒ ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี (ใกล้ตลาดเขต) เป็นแหล่งรวมใจรวมศรัทธาของญาติโยมในบริเวณใกล้เคียงและญาติโยมที่อยู่ไกลแต่มีใจศรัทธาแรงกล้า ในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาจะมีญาติโยมมาร่วมกันทำบุญอย่างเนืองแน่น กิจกรรมที่ญาติโยมให้ความสนใจและตั้งตารอคอยคือ การฟังพระธรรมเทศนา โดยหลวงปู่ท่านต่างๆ ที่เดินทางมาโปรดญาติโยมอยู่อย่างสม่ำเสมอ



พระอาจารย์อุทัย อุทโย เจ้าสำนัก จะเน้นการก่อสร้างแบบเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติที่อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่นิยมที่จะบอกบุญญาติโยม เพราะไม่ได้ทำอะไรใหญ่โตเกินความจำเป็น อะไรขาดก็ค่อยๆ สร้างเพิ่ม ไม่เร่งรีบที่จะสร้างใหญ่โต เน้นความเป็นธรรมชาติ โดยเฉพาะทางเดินจงกรมนั้น พระอาจารย์อุทัยได้สร้างเป็นสะพานไม้ทอดยาวอยู่ในร่องสวน

ทั้งนี้เมื่ออาทิตย์ที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖ ธรรมสถานบ้านโพธิ์ทองได้จัดให้มีพิธีเททองหล่อ "พระไตรโลกนาถศรีโพธิ์ทอง" ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ปางชนะมาร เนื้อสำริด หน้าตัก ๑๐๙ นิ้ว (๒.๗๗ เมตร) สูง ๔.๗๗ เมตร ณ ลานพระมหาเจดีย์พระธาตุโพธิ์ทอง เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระมหาเจดีย์ ปรากฏว่ามีคณะศรัทธาจากสารทิศไปร่วมงานอย่างล้นหลาม

ส่วนโครงการใหญ่ คือ "ก่อสร้างองค์พระมหาเจดีย์" องค์พระมหาเจดีย์ออกแบบโดย อาจารย์สมบัติ วงศ์อัศวนฤมล จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นั้นความสูงขององค์พระมหาเจดีย์แล้วแต่ดุลพินิจของผู้ออกแบบ ซึ่งได้ออกแบบมาแล้วมีความสูงที่ ๔๓ เมตร รวมความสูงของฉัตรอีก ๕ เมตร รวมเป็น ๔๘ เมตร ทั้งนี้ บริษัท ส.บุญมีฤทธิ์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโดยทำการประมาณราคาไว้ที่ ๕๗ ล้านบาท หลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์บริเวณที่จะมีการสร้างพระเจดีย์กันเรียบร้อยแล้ว ในลำดับต่อไปถึงขั้นตอนของการลงฐานรากพระมหาเจดีย์ ซึ่งขณะนี้พระอาจารย์อุทัย อุทโย ได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างจัดทำรายการเสาเข็มที่จะต้องใช้ในการวางฐานรากพระมหาเจดีย์มาให้เรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตามในวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ธรรมสถานบ้านโพธิ์ทองได้จัดให้มีการทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อนำปัจจัยเข้าสมทบทุนปฏิสังขรณ์เสนาสนะ ซึ่งขณะนี้ทรุดโทรมตามกาลเวลา และในวันเดียวกันนี้ เวลา ๑๐.๐๐ น. จะมีพิธียกเสาเอกพระมหาเจดีย์ ฉลองพระไตรโลกนาถศรีโพธิ์ทองที่หล่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งฉลองวิหารหลังใหม่ สถานที่ประดิษฐานพระไตรโลกนาถศรีโพธิ์ทองชั่วคราวก่อนที่จะนำเข้าไปเป็นพระประธานในพระมหาเจดีย์

สำหรับท่านต้องการสถานที่เงียบสงบเพื่อฝึกสมาธิ และนั่งภาวนา ขอเชิญ ณ สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ เปิดรับศรัทธาผู้จะมาปฏิบัติธรรมจากทั่วสารทิศ โดยไม่มีข้อจำกัดหรือข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น หรือร่วมบุญสร้าง สอบถามข้อมูลได้ที่ พระอาจารย์อุทัย อุทโย โทร.๐๘-๐๗๗๔-๕๙๖๘ หรือโอนเงินเข้าธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดเขต ชื่อบัญชี พลอากาศเอกปรีชา นิยมไทย เลขที่บัญชี ๕๔๓-๒๓๒๔๖๐-๖

ภาพ/ข่าว จาก คมชัดลึก